วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วันไหว้ครู


ประวัติวันไหว้ครู

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน เป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. กิจกรรมทางศาสนา

2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณ บูรพาจารย์

3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือ การจัดงาน รื่นเริงในตอนเย็น



ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้



กลอนวันครู

คุณครูที่รัก.....
เห็นลำเรือลอยมา..ที่ท่าน้ำ
พายวาดค้ำลำแอบเข้าแนบข้าง
หลากหลายเท้าคู่น้อย..ก็พลอยวาง-
ก้าวเหยียบย่างลงสู่..เสียงกรูเกรียว

เรือจ้างน้อยลอยลำ..พายจ้ำจ้วง
แต่ละช่วงจังหวะ..น้ำชะเชี่ยว
เห็นเธอวาด..พายค้ำ..เรือลำเรียว
อยู่กลางสายชลเปลี่ยว..อย่างเดียวดาย

เช่น..ดวงวันลอยดวง..ขึ้นช่วงแสง
ทาบหล้าแหล่งให้พิสุทธิ์..เห็นจุดหมาย
เมื่อหัวใจมุ่งอยู่..ไม่รู้วาย
จักจ้วงพายพาคน..ข้ามพ้นน้ำ

งามยิ่งงาม..ก็ระยับอยู่กับโลก
ปรุงปรนหอมบ่ายโบกโลมโลกต่ำ
เมื่อปรารมภ์พร่างพร้อย..ทุกรอยกรรม-
ย่อมจักย้ำยุดงามอยู่ท่ามตา

มือเรียววาดพาย-วนกลางชลเปลี่ยว
พร้อมทุกเสี้ยวส่วนใจ..รู้-ใฝ่หา
คลื่นสวนลำโหมหนัก..ในมรรคา
เห็นเพียงใจแกร่งกล้าไม่ล้าโรย

ร่างน้อยน้อยนั่งมองตาจ้อง-เพ่ง
ท่ามสูรย์เปล่งปลาบแนว..ลมแผ่วโผย
แรงคลื่นสายธารโลก..คอยโบกโบย
พาพ้นโดยมือเรียว..ที่เคี่ยวกรำ

ปีแล้ว..และปีเล่า..ที่เจ้าเป็น
ผ่านร้อยเข็ญ..พันโศกแห่งโลกต่ำ
ด้วยจิตที่สำนึก..งามลึกล้ำ
ค่อยค่อยจ้ำเรือน้อย..ล่องลอยไป

ละเที่ยวพาย..ละเที่ยวผ่าน..ฝ่าธารเชี่ยว
ค่อยค่อยเคี่ยวกรำสอน..อาทรให้-
ลูกศิษย์น้อยคล้อยหลัง..สู่ฝั่งไกล
ผ่านน้ำไหล..ชะเชี่ยว..ด้วยเรี่ยวแรง

คือเรือน้อยลอยผ่านสายธารไหล
ด้วยจิตใจครูสาวผู้กร้าวแกร่ง
ที่จะคอยคัดท้าย-วาดพาย..ทะแยง
พาหัวเรือทิ่มแทง..สู้แรงน้ำ

ทอดทิ้งตัวตนอยู่..เพื่อผู้อื่น
ท่ามกระแสลมตื่น..เสียงคลื่นคร่ำ-
ครวญระดมห่มห้อม..อยู่ล้อมลำ-
เรือน้อยคอยพลิกคว่ำ..จมลำเรือ

ภาพเด็กน้อยจำพราก..พ้นฟากฝั่ง
มือเรียววาดพายยัง..อีกฝั่งเพื่อ –
รับส่งอีกทุกรุ่น..ช่วยจุนเจือ-
ภาพงดงามให้หลงเหลือ...ในแผ่นดิน..!


คิดถึงครู

นับแต่วัน ที่ครูพา ข้าถึงฝั่ง
ข้าก็หวัง เดินไป สู่ที่หมาย
ความสำเร็จ การศึกษา ในบั้นปลาย
สิ่งสุดท้าย ใบปริญญา ข้าใคร่ครวญ

ข้าเปลี่ยนเรือ มาแล้ว ตั้งหลายลำ
พระคุณล้ำ ครูของข้า ข้านึกหวน
ครูยิ่งใหญ่ หนักหนา ข้าทบทวน
รำลึกหวน ย้อนหลัง เรื่องฝังใจ

ทั้งครูนิด ครูหน่อย ครูต้อยติ่ง
ครูสมหญิง ครูวาสนา ครูผ่องใส
ครูอาทิตย์ ครูภิรมย์ ครูสมใจ
ครูเกรียงไกร ครูสง่า ครูอดุลย์

ข้าตั้งใจ ว่าสักวัน จะหันกลับ
ไปคำนับ กราบครู ผู้เกื้อหนุน
ด้วยสำนึก ในค่า แห่งพระคุณ
ที่เจือจุน สอนข้า ด้วยปรานี

ข้าไม่เคย ลืมคำ ครูพร่ำสอน
ข้าสังวร อยู่แก่ใจ ไม่หน่ายหนี
ข้าตระหนัก ค่าแห่งรัก และปรารถนาดี
ที่ครูมี ต่อข้า มามากมาย

กราบคุณครู ทั้งหลาย ในวันนี้
รอบ " วันครู " อีกปี ที่ห่างหาย
หวังปีหน้า ปริญญา ข้าถือไป
พร้อมดอกไม้ ไปกราบลง ตรงเท้าครู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น